











for presskit
please download below
EGO-NOMIC: LIFE IN A PLASTICOSPHERE 10 MARCH - 18 JUNE 2023 นิทรรศการ โดย อมร ทองพยงค์ อำพรรณี สะเตาะ ชัญญา พิณจำรัส ชัชวาลย์ ตะไนศรี Chiang Mai Performance Art DDMY STUDIO จิรันธนิน เธียรพัฒนพล คามิน เลิศชัยประเสริฐ ขวัญพิชชา กองแสง Pietro Lo Casto ธิติ จิ๋วสกุล เรืองศักดิ์ อนุวัตรวิมล และ วรพจน์ กองเงิน คัดสรร โดย Rushdi Anwar และ พลอย เจริญผล นิทรรศการ EGO-NOMIC: LIFE IN A PLASTICOSPHERE คัดสรรผ่านมุมมองของ Rushdi Anwar และ พลอย เจริญผล โดย 12 ศิลปิน และ 1 กลุ่มศิลปินสื่อแสดงสด จัดแสดงผลงานที่มีจุดร่วมในประเด็นของอากาศและสิ่งแวดล้อมโดย อมร ทองพยงค์ อำพรรณี สะเตาะ ชัญญา พิณจำรัส ชัชวาลย์ ตะไนศรี Chiang Mai Performance Art DDMY STUDIO จิรันธนิน เธียรพัฒนพล คามิน เลิศชัยประเสริฐ ขวัญพิชชา กองแสง Pietro Lo Casto ธิติ จิ๋วสกุล เรืองศักดิ์ อนุวัตรวิมล และ วรพจน์ กองเงิน จากความร่วมมือของ สภาลมหายใจเชียงใหม่ และ โครงการ ART for AIR อุปมานิทัศน์ ‘everybody who leaves the cave sees the same light’ โดย Plato เป็นวลีที่กล่าวถึงสถานการณ์สมมติหากแต่เป็นแนวคิดที่ช่วยเรียบเรียงถึงเหตุของผล ตำแหน่งแห่งที่อันเกิดจากระนาบอันแบนราบของการจ้องมองเงาของตัวเองที่ทาบทับอยู่บนผนังถ้ำอันขรุขระ ห่างออกมาจากทางเข้าที่แสงลอดเลื้อยเข้ามาด้านใน บางคนจ้องมองและเชื่อในสิ่งที่เห็นตรงหน้า บางคนหันหลังกลับเพื่อพบกับแสงอันเป็นต้นกำเนิดของเงา ผู้ที่ละทิ้งที่อยู่ประจำเพื่อออกไปยังที่ที่มีแสงสว่างจ้าด้านนอก บางคนกลับเข้าไปและบางคนไม่เคยกลับมาอีกเลย และยังมีบางคนที่ยังคงจดจ้องยืนอยู่ ณ ธรณีประตู มองดูสังเกตสังกากลุ่มคนที่ยังคงกระทำกิจวัตรอยู่ภายใน ประวัติศาสตร์ของ ‘คน’ เริ่มต้นต้นขึ้นเมื่อเราเริ่มบันทึกเรื่องราวผ่านตัวอักษรจริงหรือ? เป็นเวลานานอย่างมากก่อนหน้านั้นที่คนเริ่มประหัตประหารต่อกรกับธรรมชาติด้วยการเดินทางและการย้ายถิ่นฐาน คนเริ่มนำพาตัวเองไปสู่จุดที่อยู่เหนือกว่าธรรมชาติด้วยการออกแบบเครื่องมือและการบริหารจัดการที่ถูกเรียกในเวลาต่อมาว่า ชุมชน และเติบโตขยายต่อไปสู่ เมือง ความคิดของคนซับซ้อนขึ้นจากการจัดการไฟ จนสามารถพัฒนาสู่สิ่งที่ซับซ้อนขึ้นอีกขั้นของความคิดเมื่อคนสร้างสิ่งสมมติที่ใช้ในการบริหารจัดการเมืองและคนด้วยกันเองมาครอบพวกเขาเอาไว้อีกชั้น เส้นทางการเดินทางของคนจึงไม่เพียงเป็นการต่อกรกับธรรมชาติแต่มากขึ้นจนเป็นความควบคุมที่ขับด้วยแรงปรารถนาที่จะไปสู่ utopia ที่มีขอบเขตชายแดน ในชั่วพริบตา เขตแดนเหล่านั้นทาบต่อกันสนิท ทุก ๆ พื้นที่บนโลกทรงกลมไม่สมบูรณ์ถูกควบคุมโดยสมบูรณ์โดยคน ผู้คนต่างรับรู้ข่าวสารของกันและกันในเสี้ยววินาที และเดินทางไปมาหาสู่กันอย่างอิสระ เส้นทางการย้ายถิ่นจากที่หนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่ง ไม่เพียงเพื่อหนีจากที่ที่ควบคุมธรรมชาติได้น้อยกว่า แต่เป็นการมองหาที่หมายที่ควบคุมทุกอย่างได้ดังใจนึก คนบางกลุ่มกลับสะท้อนภาพฝันของ utopia เอาไว้ด้วยจุดจบของคนเอาไว้คล้ายคลึงกันทั้งที่ปรากฏในภาพยนตร์ The Matrix และ Wall-E ผู้ชมเริ่มมองดูฉากเริ่มต้นอันแสนธรรมดาแต่ความธรรมดาที่คุ้นชินตานั้นวางอยู่บนภาพเมืองที่ล่มสลาย ปราศจากซึ่งสิ่งมีชีวิตอื่นใด คงเหลือเอาไว้แต่คนที่ยังคงพยายามเอาชีวิตรอดไปวันต่อวันอย่างยากลำบาก พันธนาการที่ธรรมชาติเชื่อมต่อกับคนถูกตัดขาดมานานแสนนาน แม้จะมีความพยายามในการประสานสายธารนี้ให้กลับมาเชื่อมต่อกันอีกครั้ง แต่สิ่งที่คนกำลังพยายามทำเพื่อ ‘แก้ปัญหา’ เป็นการนั่งมองเงาของตัวเองที่ทาบทับบนผนังถ้ำอันขรุขระ การหันไปเจอที่มาของแสง การยืนอยู่ที่ปากถ้ำ หรือการเดินออกไปสู่แสงสว่างเหล่านั้นกันแน่ นิทรรศการ EGO-NOMIC: LIFE IN A PLASTICOSPHERE เป็นนิทรรศการต่อเนื่องจากนิทรรศการ Informative to Transformative โดย Jing Jai Gallery ที่พูดถึงปัญหาของฝุ่นควันและสิ่งแวดล้อมด้วยการมองถึงความสัมพันธ์ของมนุษย์ที่มีต่อธรรมชาติผ่านวัฒนธรรมที่เรียกว่าเมือง เพื่อมองถึงจุดยืนในการแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างตรงไปตรงมา และพิจารณาถึงการมีส่วนร่วมในการเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาฝุ่นควันและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนและตรงจุด